วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

รถหาย!! ทำไงดี?

‘รถยนต์’ อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของบางคน เพราะสามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ด้วยความสะดวกสบาย ถ้าไม่มองในด้านของความสิ้นเปลืองเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์ ทั้งค่าน้ำมัน ค่าดูแลรักษา หรือค่าประกันภัย

บางคนจะต้องเก็บเงิน สักก้อนเป็นเวลานานแค่ไหน หรือยอมเป็นลูกหนี้เพื่อผ่อนรถยนต์ไปนานเท่าไหร่...เงินจำนวนนั้นย่อมไม่ใช่ น้อยๆ จึงไม่แปลกที่รถยนต์ จะเป็นของสุดรัก ทรัพย์สุดหวง!

เคยลองคิด กันบ้างหรือไม่? หากรถยนต์คู่ใจหาย ถูกงัด ถูกกรีด คุณจะทำอย่างไร...มันอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิด บางคนอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว มีความเป็นไปได้เพียงน้อยนิดที่จะเกิดขึ้นกับคุณ เพราะคุณมีความรอบคอบเพียงพอในการจอดรถ

แต่ถ้ามันเกิดขึ้นในสถานที่จอดรถ ซึ่งคุณคิดว่ามันปลอดภัยดีแล้วล่ะ?...

ผู้ มีประสบการณ์ เล่าให้ฟังว่า “เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ได้แวะไปซื้อของ ทานข้าวที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งเป็นปกติ เนื่องจากใกล้บ้าน โดยช่วงเวลาที่เข้าไปใช้บริการนั้น อยู่ในช่วงบ่ายของวันหยุดสุดสัปดาห์ ผมจอดรถที่ชั้นใต้ดิน บี2 ใกล้กับประตูทางเข้า แต่มีเสาบังอยู่ต้นหนึ่ง ที่เลือกจอดตรงนั้นก็ไม่ได้คิดมากอะไร เห็นว่าว่างอยู่พอดี ผมล็อกเกียร์ ล็อกพวงมาลัย ล็อกรถและก็ตรวจตราอย่างดีแล้วก่อนเข้าไปยังตัวห้าง ผมใช้เวลาอยู่ในห้างไม่เกิน 2 ชั่วโมง จากนั้นกลับมาที่รถก็ไม่ทันได้ดูความเรียบร้อยอย่างอื่น พอขับรถถึงบ้านรถปรากฏว่า...ตัวอักษรรุ่นของรถหายไปหมดทุกตัว ฝาครอบล้อที่มีสัญลักษณ์ยี่ห้อหายหมดทั้ง 4 ล้อ...”

“ผมรีบโทรไปที่ ฝ่ายรปภ.ของห้างฯ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ห้างจ้างให้ดูแลเรื่องความปลอดภัยอีกทอดหนึ่ง หัวหน้ารปภ.บอกให้ผมไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ แล้วนำบันทึกมาให้เขา พร้อมกับสอบถามรายละเอียดว่าจอดตรงไหน เข้า-ออกกี่โมง แล้วเขาจะไปดูที่กล้องวงจรปิดให้...ขณะที่ผมอยู่ที่สถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกกับผมว่า ที่ห้างฯนี้มีมาหลายครั้งแล้ว ทั้งงัดกระจกมองข้าง งัดโลโก้ หรือกรณีเดียวกับผมก็มี”

“เมื่อผมนำ เอกสารไปให้รปภ.ของห้างฯ เขาก็อ้างว่า ตรวจดูที่วงจรปิดพบว่าเห็นรถของผมจริง แต่กล้องวงจรปิดไม่สามารถบันทึกภาพในมุมที่สามารถมองเห็นว่ามีคนร้ายมางัด แงะได้ (มุมกล้องอยู่สูงกว่า) แล้วพูดกับผมว่า เขาจะยื่นเรื่องไปให้ ต้องรอการพิจารณาประมาณ 15 วัน พร้อมกับบ่นว่า เดี๋ยวนี้ห้างให้ลดจำนวนรปภ. เหลือแค่ชั้นละ 2 คน ไม่ต้องแจกบัตรจอดรถ ผมจึงพูดย้อนกลับไปว่า... “ผมมาใช้บริการที่นี่บ่อย แต่นับครั้งได้เลยว่าผมเจอรปภ.เดินตรวจแค่กี่ครั้ง”

…และจนถึงตอนนี้ ผมก็ยังไม่ได้รับการติดต่อจากหัวหน้ารปภ.ตามที่เขาบอก”

ส่วนอีกกรณีหนักกว่ารายแรก เพราะ รถหาย!! ของจริง

ผู้ เสียหาย เล่าว่า เป็นเจ้าของรถกระบะรุ่นและยี่ห้อยอดนิยม ซึ่งซื้อร่วมกับเพื่อนสนิทชาวต่างชาติ ชื่อเจ้าของรถจึงเป็นชื่อของเธอ..ในวันเกิดเหตุ เพื่อนของเธอได้ยืมรถไปใช้ โดยแวะไปทานข้าวที่ห้างสรรพสินค้าย่านชานเมืองแห่งหนึ่ง หลังจากจอดรถเสร็จเรียบร้อย ก็จัดการเก็บบัตรจอดรถไว้ในรถซึ่งเป็นที่ลับตาคน ที่ไม่อยากนำบัตรจอดลงไปด้วยเนื่องจากกลัวทำหล่นหาย

จากนั้นก็เดิน เข้าตัวห้างไป โดยใช้เวลาอยู่ในนั้นไม่นาน พอกลับมาที่ลานจอดรถ พบว่า รถหายไปแล้ว จึงรีบโทรศัพท์บอกเพื่อนที่เป็นเจ้าของรถ เพราะทำอะไรไม่ถูก เพื่อนจึงแนะนำให้ไปแจ้งรปภ. เธอจึงทำตามที่บเพื่อนบอก พร้อมกับไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ตำรวจรับแจ้งความและส่งตำรวจมาที่ห้างกับเธอ เพื่อตรวจสอบที่เกิดเหตุและดูภาพจากกล้องวงจรปิด

ปรากฏว่า...บริเวณ ที่จอดรถ ไม่มีกล้องวงจรปิดติดอยู่ มีแต่เฉพาะบริเวณตู้ยามรับบัตรคืน กล้องบริเวณตู้ยามสามารถบันทึกภาพนาทีที่คนร้ายนำรถออกไปได้ แต่โชคร้าย เพราะวงจรปิดมีมุมกล้องที่บันทึกให้เห็นเพียงบริเวณแขนของคนร้ายเท่านั้น ซึ่งคาดว่าเป็นผู้ชาย

จากนั้นเธอโทรศัพท์แจ้งเหตุไปยังสถานีวิทยุ ชื่อดังหลายแห่ง ซึ่งไม่นานก็มีคนแจ้งไปยังสถานีวิทยุเหล่านั้นว่า รถจักยานยนต์หายที่ห้างฯเดียวกัน

เธอเปิดเผยความรู้สึกว่า “แน่นอนว่าทางเราก็ประมาทตรงที่ไม่นำบัตรจอดรถติดตัวไว้ และจากที่รับรู้ว่านอกจากรถของเรา รถของคนอื่นก็ยังถูกขโมยในเวลาใกล้เคียงกัน สถานที่เดียวกัน แต่ไม่มีใครทำอะไรได้ เสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นมาก เพราะรถเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น และไม่ใช่ของถูกๆ”

พร้อมกันนี้ เธอได้ฝากข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องของประกันภัยรถยนต์ เนื่องจากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้รู้ว่า ควรตรวจสอบและเปรียบเทียบรายละเอียดของบริษัทประกันภัยต่าง ๆ ก่อน เช่น ระยะเวลาในการชดใช้ค่าเสียหาย เพราะบริษัทประกันชื่อดังแห่งหนึ่งที่มีส่วนรับผิดชอบรถของเธอ ปล่อยให้เธอผ่อนกุญแจก่อนพิจารณานานถึง 4 เดือน

ทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่นำรถไปจอดในห้างสรรพสินค้า ว่า

1. สำหรับห้างฯ ที่มีการมอบบัตรจอดรถ ทั้งที่คิด และไม่คิดค่าจอดรถ ให้เจ้าของรถอ่านข้อตกลงที่มีระบุไว้อย่างละเอียด และควรเก็บบัตรจอดรถไว้กับตัว อย่าเก็บไว้ภายในรถเด็ดขาด

2. เลือกบริเวณจอดรถที่มีไฟสว่าง มีกล้องวงจรปิด ไม่ใช่มุมอับ มีเสาบัง หรือเปลี่ยว

3. ก่อนลงจากรถควรล็อกรถ หรืออุปกรณ์กันขโมยให้เรียบร้อย และก่อนออกจากห้างฯ ควรเดินดูรอบรถว่ามีสิ่งปกติหรือไม่

4. กรณีที่รถมีความผิดปกติ เช่น มีรอยขีดข่วน อุปกรณ์หาย หรือรถหาย อย่าเพิ่งขับรถออกจากห้าง ให้แจ้งรปภ.รับทราบ และหากสะดวกถ่ายภาพก็ควรถ่ายเอาไว้ และอย่าเคลื่อนย้ายรถ

5. รปภ.มักจะแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ในที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย เช่น นำผู้เสียหายไปแจ้งความ ลงบันทึกประจำวัน นำหลักฐานมาขอดูภาพวงจรปิด

ที่สำคัญ ห้างฯ ส่วนใหญ่มักจะกำหนดในข้อตกลงว่าจะไม่ขอรับผิดชอบใด ๆ ซึ่งมีนัยว่า เขาต้องการเป็นเพียงพยานเท่านั้น ดังนั้นจึงยากที่จะเรียกค่าเสียหายจากห้างฯ จำไว้!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น