วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ซื้อรถมือสองอย่างไรไม่ให้ถูกเอาเปรียบ

ผลพวงจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ผู้ครอบครองรถจำนวนไม่น้อย จำต้องนำรถยนต์ไปขาย หรือฝากขาย กับเต้นท์รถ ทั้งๆ ที่ ผู้ครอบครองรถนั้น อาจไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถคันที่นำไปขาย เพราะฉะนั้น ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจ ซื้อรถมือสอง นอกจากตรวจสภาพของรถยนต์ เป็นที่น่าพอใจแล้ว ผู้ซื้อต้องขอดูสมุดทะเบียนรถยนต์ ที่จะซื้อจากเต้นท์ด้วย ว่าใครเป็นเจ้าของ กรรมสิทธิ์รถที่ขาย มิเช่นนั้นแล้วจะต้องเสียใจภายหลัง จนถึงขั้นฟ้องร้องกันได้

กรณีที่ผู้ครอบครองรถเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จริง เวลาที่เต้นท์รถรับซื้อ ส่วยใหญ่จะให้เจ้าของเซ็นเอกสารโอนลอยไว้ เพื่อให้เต้นท์รถถือเอกสารดังกล่าวไว้ขายต่อให้กับผู้ซื้อ แล้วจึงโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อภายหลัง กรณีนี้ถือว่าไม่เสียหายอะไร เพียงแต่เต้นท์รถหลีกเลี่ยง การเสียอากรแสตมป์โอน 2 ต่อให้กับกรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นเรื่องที่กรมสรรพากร ควรเข้ามาดูเอง

ส่วนกรณีที่ผู้ครอบครองรถ เป็นเพียงผู้เช่าซื้อของบริษัทเงินทุน หรือบริษัทลีสซิ่งใดบริษัทหนึ่ง เรียกกันว่า "รถติดไฟแนนซ์" ส่วนใหญ่เป็นพวกค้างชำระค่างวด แล้วหลบหลีกการติดตาม ของไฟแนนซ์มาตลอด พวกนี้จะนำรถยนต์ ที่ครอบครอง ไปขายให้เต้นท์รถ ซึ่งเต้นท์รถจะรับทราบการติดไฟแนนซ์ดี แต่ก็ยินดีรับซื้อไว้ในราคาต่ำมากๆ เพราะรู้ว่าเป็นของร้อน จากนั้นเต้นท์รถจะนำรถคันนี้ออกขาย แก่ประชาชนทั่วไป โดยไม่แจ้งข้อเท็จจริงให้แก่ผู้ซื้อทราบว่า เป็นรถติดไฟแนนซ์ ผู้ซื้อโดยทั่วไป ก็ไม่ได้ขอดูสมุดทะเบียนรถยนต์ และหลงเข้าใจผิดว่า ทำสัญญาซื้อขาย กับเต้นท์รถแล้ว ก็เสร็จสมบูรณ์ หลังจากนั้นผู้ซื้อก็จะต้องเสียเวลา มาคอยติดตาม ทวงถามสมุดทะเบียนรถยนต์ จากเต้นท์รถ ซึ่งเต้นท์รถจะอ้างเหตุ ติดขัดต่างๆ นานา เพื่อซื้อเวลาไปเรื่อยๆ บางเต้นท์รถที่มีจริยธรรมหน่อย จะรีบมาปิดบัญชี กับไฟแนนซ์ เพื่อทำการโอนกรรมสิทธิ์ ให้ผู้ซื้อ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น ปัญหาจึงตกอยู่ กับผู้ซื้อรถมือสองจากเต้นท์รถ ดังนี้

ผู้ซื้อรถเสียหายทั้งขึ้นทั้งล่อง โดยได้จ่ายเงินสดซื้อรถยนต์จากเต้นท์รถแล้ว ยังเสี่ยงต่อการถูกยึดรถจากไฟแนนซ์อีก เพราะกรรมสิทธิ์ในตัวรถ ยังเป็นของไฟแนนซ์ ซึ่งผู้เช่าซื้อ เดิมผิดสัญญา ไม่ชำระค่างวด ตามกำหนด

แม้รถที่ซื้ออาจยังไม่ถูกยึด แต่ผู้ซื้อจะไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากเต้นท์รถ ไม่ได้ไปดำเนิน การปิดบัญชี กับไฟแนนซ์เพื่อโอนให้ผู้ซื้อ ผู้ซื้อจึงยังคงมีความเสี่ยงต่อการได้กรรมสิทธิ์ในสมุดทะเบียนรถยนต์

ในระหว่างที่เต้นท์รถยังไม่มาปิดบัญชีกับไฟแนนซ์ หากผู้เช่าซื้อเดิมเสียชีวิตลง คู่สัญญาของไฟแนนซ์ จะเปลี่ยนจากผู้เช่าซื้อ เดิมเป็นกองมรดก ทีนี้ยุ่งไปใหญ่ หากกองมรดกจะเรียกร้องสิทธิ์ตามสัญญาเช่าซื้อ กว่าจะแก้ปัญหาได้จบ ผู้ซื้อรถคงเข็ดไปตลอดชีวิต

ข้อแนะนำแก่ผู้ซื้อรถมือสองจากเต้นท์รถ มีดังนี้

ควรตัดสินใจซื้อรถมือสองจากเต้นท์รถที่มีชื่อเสียงดี และประกอบธุรกิจมานานพอสมควรแล้ว ก่อนชำระค่าซื้อ ต้องขอดูสมุดจดทะเบียนรถยนต์ จากเต้นท์รถเพื่อให้แน่ใจว่า เป็นรถที่ได้จดทะเบียนและมีกรรมสิทธิ์ถูกต้อง

ถ้าสมุดทะเบียนระบุชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นบริษัทเงินทุน หรือบริษัทลีสซิ่ง ผู้ซื้อต้องยืนยัน กับเต้นท์รถ ให้มาปิดบัญชี กับไฟแนนซ์พร้อมกับตนเอง และชำระค่าเช่าซื้อให้แก่เต้นท์รถ เมื่อได้รับการยืนยัน จากไฟแนนซ์ ว่าได้ปิดบัญชีแล้ว และถ้าจะให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ผู้ซื้อยอมเสียค่าบริการเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย มอบหมายให้ไฟแนนซ์ ช่วยทำการโอนกรรมสิทธิ์ ให้แก่ตนเองอีกต่อหนึ่ง และมาขอรับสมุดทะเบียนจากไฟแนนซ์เอง ภายหลังจะเป็นวิธี ที่รอบคอบดีที่สุด

ในกรณีผู้ซื้อประสงค์จะผ่อนชำระค่างวดต่อจากผู้เช่าซื้อเดิมที่เรียกกันว่า "ซื้อเงินดาวน์" ผู้ซื้อต้องยืนยัน กับเต้นท์รถ ให้นัดผู้เช่าซื้อเดิมไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ ในสัญญาเช่าซื้อให้ถูกต้องกับไฟแนนซ์ทันที มิฉะนั้น จะประสบ กับปัญหาผ่อนชำระหมดแล้ว กลับไม่ได้รับกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ เพราะคู่สัญญาของไฟแนนซ์ ยังเป็นชื่อผู้เช่าซื้อเดิมอยู่ ซึ่งไฟแนนซ์ต้องโอนกรรมสิทธิ์ ให้กับคู่สัญญาเช่าซื้อที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น