วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ค่าเสียหายส่วนแรกคืออะไร

ความเสียหายส่วนแรก หมายถึงจำนวนเงินค่าความเสียหายในแต่ละครั้งที่ผู้เอาประกันภัยตกลงรับ ผิดชอบเองในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้นจากอุบัติเหตุจากรถ ค่าเสียหายส่วนแรกแบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้

1. ความเสียหายส่วนแรกโดยสมัครใจ
สำหรับเจ้าของรถที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง และมีความระมัดระวังในการขับรถอาจเลือกรับผิดชอบความเสียหายส่วนแรกเอง ซึ่งสามารถเลือกได้ 2 ประเภทความคุ้มครอง คือ คุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถยนต์ (รถเราเอง) และคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก (รถหรือทรัพย์ สินของบุคคลภายนอก) โดยบริษัทประกันภัยจะลดเบี้ยประกันภัยให้เป็นจำนวนเงินตามเงื่อนไขในสัญญา

ความเสียหายโดยสมัครใจนี้ เช่น ประกันภัยรถยนต์ 3 พลัส หรือประกันภัยรถยนต์ 2 พลัส ถือเป็นตัวอย่างของความเสียหายส่วนแรกโดยสมัครใจ เพราะกรมธรรมธ์ทั้ง 2 ประเภทนี้หากผู้เอาประกันเป็นฝ่ายผิดจะต้องรับผิดชอบเองส่วนหนึ่ง ปกติแล้วคือ 2,000 บาท

2. ความเสียหายส่วนแรกในกรณีผิดสัญญา
เป็นความเสียหายที่ไม่ได้เป็นไปตามสัญญากรมธรรมธ์ กล่าวคือกรมธรรม์ระบุอีกแบบหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงเป็นอีกแบบหนึ่ง กรณีเช่นนี้บริษัทประกันยังคงรับผิดในความเสียหาย แต่อาจจะเรียกเก็บเบี้ยเพิ่มกับผู้เอาประกัน เบี้ยเพิ่มส่วนนี้อาจเรียกได้ว่าค่าเสียหายส่วนแรก หรือค่าธรรมเนียมกรณีผิดเงื่อนไขการรับประกัน ซึ่งมีดังนี้
2.1 กรณีกรมธรรม์แบบระบุชื่อ
โดยปกติเราสามารถระบุผู้ขับขี่ได้ 2 คนเผื่อทำให้เบี้ยถูกลง แต่ตอนเกิดอุบัติเหตุ ปรากฎว่ามีบุคคลอื่นขับขี่ ไม่ใช่ 2 คนที่ระบุไว้ในกรมธรรมธ์แถมเป็นฝ่ายผิดด้วย หากเกิดกรณีนี้ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายส่วนแรกต่อความ เสียหายดังนี้
  • 6,000 บาทแรก สำหรับความเสียหายต่อตัวรถยนต์คันเอาประกันภัย
  • 2,000 บาทแรก สำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก

2.2 กรณีใช้รถผิดประเภท
จะเกิดขึ้นในกรณีผู้ซื้อประกัน ซื้อประกันภัยรถยนต์ โดยระบุไว้ว่ารถยนตืดังกล่าวเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล แต่ตอนเกิดอุบัติเหตุพบว่าเอารถไปรับจ้าง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่ารถยนต์ส่วนบุคคล กรณีเช่นนี้ หากบริษัทพิสูจน์ได้ว่ามีการใช้รถยนต์ผิดประเภท ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเอง ดังนี้ 2,000 บาทแรก สำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น